วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2557

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC คืออะไร

อาเซียน


          สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) หรือ ประชาคมอาเซียน เป็นเป้าหมายการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย  พม่า ลาว เวียดนาม  มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และ บรูไน  เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและขีดความสามารถการแข่งขันของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงให้อาเซียนมีความแข็งแกร่ง มีภูมิต้านทานที่ดี ในการรับมือกับปัญหาใหม่ ๆ  ระดับโลก
          ประชาคมอาเซียน เปรียบกับการเป็นครอบครัวเดียวกันของประเทศสมาชิกอาเซียน ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 พร้อมกับมีการร่วมลงนามในปฏิญญาให้เป็นประชาคมเดียวกันให้สำเร็จภายใน พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) พร้อมกับมีการแบ่งประชาคมย่อยออกเป็น 3 ประชาคม หรือ 3 เสาหลัก ได้แก่
            ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community – APSC)
            ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community – AEC)
            ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Asean Socio-Cultural Community – ASCC)
          ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คืออะไร หรือ AEC คืออะไร หลายคนอาจจะยังสงสัย วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับคำว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC กันค่ะ

 ความเป็นมาพอสังเขป 

          ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เกิดขึ้นมาจากการพัฒนาสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เนื่องจากสมาชิกอาเซียนเห็นว่า ปัจจุบันอาเซียนมีจำนวนประเทศ 10 ประเทศ ประชากรเกือบ 500 ล้านคน ดังนั้นถือว่าเป็นเศรษฐกิจภูมิภาคขนาดใหญ่ จึงควรร่วมมือกัน เพื่อทำให้อาเซียนมีความเข้มแข็งในด้านต่าง ๆ มากขึ้น เหตุนี้เอง อาเซียนจึงกลายสภาพเป็น เออีซี ในที่สุด โดยจะก่อตั้งเออีซีอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2558 เลื่อนเข้ามาจากเดิมคือ พ.ศ. 2563

          อย่างไรก็ตาม อนาคตข้างหน้า เออีซีมีแนวโน้มขยายเป็น อาเซียน +3 คือ เพิ่ม จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ก่อนที่จะเป็น อาเซียน +6 โดยเพิ่ม จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย
 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN  Economic  Community : AEC) 
          AEC หรือ ASEAN  Economic  Community ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นเป้าหมายการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับคู่ค้า และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจระดับโลก รวมถึงมีการยกเว้นภาษีสินค้าบางชนิดให้กับประเทศสมาชิก ส่งเสริมให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง มั่นคง ประชาชนอยู่ดีกินดี 
          โดยในการประชุมสุดยอดอาเซียน  ASEAN  Summit ครั้งที่  8  เมื่อ  4  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2545  ณ  กรุงพนมเปญ  ประเทศกัมพูชา ที่ได้เห็นชอบให้อาเซียนกำหนดทิศทาง ได้มีการดำเนินงานที่แน่ชัดเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจน  ได้แก่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  โดยจะมีตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน  และจะมีการเคลื่อนย้ายสินค้า  บริการ  การลงทุน  เงินทุน  และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรีสำหรับการตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้กำหนดให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2558  ( ค.ศ. 2015)

 เป้าหมายสำคัญของ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC  มี  4  ด้าน  คือ                                                                                                                           
          1. เป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน  (Single Market and Production Base)   
            เพื่อเคลื่อนย้ายสินค้า  บริการ  ลงทุน  แรงงานฝีมือ  เงินทุน  อย่างเสรี
            ส่วนนี้ จริงๆ เป็นการดำเนินตามพันธกรณีที่ได้ตกลงและดำเนินการมากันอยู่แล้ว ทั้ง
          * AFTA (ASEAN Free Trade Area)  เริ่มปี  2535 (1992)
          * AFAS (ASEAN Framework Agreement on  Services)  กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ ลงนามปี  2538  (1995)  ได้เจรจาเปิดเสรีเป็นรอบๆ  เจรจาไปแล้ว  5  รอบ
          * AIA  (ASEAN Investment Area)  กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ  ลงนามและมีผลตั้งแต่ 2541  (1998)
          2. สร้างขีดความสามามารถทางเศรษฐกิจ (High Competitive Economic Region)
            ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านนโยบาย ที่ช่วยการรวมกลุ่ม  เช่น นโยบายการแข่งขัน นโยบายภาษี , ทรัพย์สินทางปัญญา, พัฒนาโครงการสร้างพื้นฐาน
            ร่วมกันดำเนินการโดยแลกเปลี่ยนข้อมูล  ฝึกอบรมบุคคลากรร่วมกัน
          3. สร้างความเท่าเทียมในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Equitable Economic Development)
            สนับสนุนการพัฒนา SMES
            สร้างขีดความสามารถผ่านโครงการที่มีอยู่แล้ว
          4. การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก (Fully  Integrated  into  Global Economy)
            เน้นการปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจอาเซียนกับนอกภูมิภาค เช่น  ทำ  FTA

 กรอบความร่วมมือ 

          สำหรับกรอบความร่วมมือ ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อวันที่ 21-22 กันยายน 2547 ที่กรุงเทพฯ สามารถหาข้อสรุปในสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรการร่วมที่จะใช้กับการรวมกลุ่มสินค้าและบริการ  ได้แก่ การเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การอำนวยความสะดวกด้านการค้า และการลงทุนและการส่งเสริมการค้าและการลงทุน และความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ดังนี้

          (1) การค้าสินค้า - จะเร่งลดภาษีสินค้าใน Priority Sectors (เกษตร/ประมง/ผลิตภัณฑ์ไม้/ผลิตภัณฑ์ยาง/สิ่งทอ/ยานยนต์ /อิเล็กทรอนิกส์/เทคโนโลยีสารสนเทศ/สาขาสุขภาพ) เป็น 0% เร็วขึ้นจากกรอบ AFTA เดิม 3 ปี คือ จาก 2010 เป็นปี 2007 สำหรับสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ และ ปี 2015 เป็น 2012 สำหรับประเทศ CLMV โดยได้กำหนดเพดานสำหรับสินค้าทั้งหมดใน Priority Sectors ไม่ต้องการเร่งลดภาษี (Negative List) ไว้ที่ 15%

          (2) การค้าบริการ - จะเร่งเปิดเสรีสาขาบริการใน Priority Sectors (สาขาสุขภาพ, e-ASEAN, ท่องเที่ยวและการขนส่งทางอากาศ) ภายในปี ค.ศ. 2010 ทั้งนี้ ให้ใช้ ASEAN-X formula ได้

          (3) การลงทุน - จะเร่งเปิดการลงทุนในรายการสงวน (Sensitive List) ภายในปี 2010 สำหรับอาเซียนเดิม 6 ประเทศ ปี ค.ศ. 2013 สำหรับเวียดนามและ 2015 สำหรับกัมพูชา ลาว และพม่า ทั้งนี้ ให้ใช้ ASEAN-X formula ได้ และส่งเสริมการผลิตในอาเซียนโดยการจัดตั้งเครือข่าย ASEAN free trade zones เพื่อส่งเสริมการซื้อวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่ผลิตในอาเซียน  (outsourcing) และดำเนินมาตรการร่วมเพื่อดึงดูด FDI

          (4) การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน - ซึ่งประกอบด้วยเรื่องต่างๆ คือ กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร มาตรฐาน (standard and conformance) การอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง และ logistics service สำหรับการขนส่ง การอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวในอาเซียน และ การเคลื่อนย้ายของนักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบวิชาชีพ และ แรงงานมีฝีมือ

          (5) การส่งเสริมการค้าและการลงทุน และความร่วมมือในด้านอื่น ๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พิธีสารว่าด้วยการรวมกลุ่มรายสาขาของอาเซียน 11 สาขากำหนดมาตรการร่วม ซึ่งคาบเกี่ยวกับทุกสาขาเช่นเดียวกับในกรอบความตกลงฯ และมาตรการเฉพาะสำหรับการรวมกลุ่มแต่ละสาขานั้นๆ โดยรวมอยู่ในแผนการรวมกลุ่ม (Road map) ซึ่งผนวกอยู่กับพิธีสารฯ

          ขณะที่ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียน (Framework Agreement for the Integration of the Priority Sectors)  และรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามในพิธีสารว่าด้วยการรวมกลุ่มรายสาขาของ อาเซียน 11 ฉบับ (ASEAN Sectoral Integration Protocol) ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2547 ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 ที่เวียงจันทน์ ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2547

          ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 ทุกประเทศย้ำความสำคัญของการดำเนินการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020) ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการรวมตัวของอาเซียนให้เร็ว ขึ้น โดยอาจให้สำเร็จภายในปี 2555 (ค.ศ. 2012) และได้เสนอแนวทางต่างๆ เพื่อช่วยเร่งรัดการรวมตัว เช่น การใช้วิธีการ Two plus X ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้เคยเสนอความจำเป็น และแนวทางนี้มาแล้วเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2546 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9 ที่บาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ก็ได้สนับสนุนข้อเสนอแนะของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีของไทย ที่ให้เร่งรัดการจัดตั้ง AEC ด้วย


 การรวมกลุ่มสินค้าและบริการ 11 สาขานำร่อง 

          การรวมกลุ่มสินค้าและบริการ 11 สาขานำร่อง ถือว่าเป็นการเปิดเสรีด้านการค้าและบริการ เพื่อส่งเสริมการแบ่งงานกันผลิตสินค้าและบริการภายในอาเซียนด้วยกัน โดยจะเน้นใช้วัตถุดิบภายในอาเซียนเป็นหลัก ตามความถนัด เนื่องจากแต่ละประเทศมีวัตถุดิบที่ไม่เหมือนกัน ถ้าจะให้ผลิตทุกอย่าง จะเป็นการเพิ่มต้นทุนสินค้าแบบเสียเปล่า

 สำหรับ 11 สาขานำร่องมีดังนี้

          1. สาขาผลิตภัณฑ์เกษตร
          2. สาขาประมง
          3. สาขาผลิตภัณฑ์ยาง
          4. สาขาสิ่งทอ
          5. สาขายานยนต์
          6. สาขาผลิตภัณฑ์ไม้
          7. สาขาอิเล็กทรอนิกส์
          8. สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ
          9. สาขาสุขภาพ
          10. สาขาท่องเที่ยว
          11. สาขาการบิน

          อย่างไรก็ตาม ภายหลังได้เพิ่มสาขาที่ 12 ได้แก่ สาขาโลจิสติกส์ เพื่อทำให้การขนส่งวัตถุดิบต่าง ๆ ทำได้สะดวกมากขึ้น

 เมื่อแบ่งทั้ง 12 สาขา ตามประเทศที่รับผิดชอบ สามารถแบ่งได้ ดังนี้

          1. พม่า สาขาผลิตภัณฑ์เกษตร และสาขาประมง
          2. มาเลเซีย สาขาผลิตภัณฑ์ยาง และสาขาสิ่งทอ
          3. อินโดนีเซีย สาขายานยนต์ และสาขาผลิตภัณฑ์ไม้
          4. ฟิลิปปินส์ สาขาอิเล็กทรอนิกส์
          5. สิงคโปร์ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาสุขภาพ
          6. ไทย สาขาการท่องเที่ยวและสาขาการบิน
          7. เวียดนาม สาขาโลจิสติกส์


 ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC 
          1. ขยายการส่งออกและโอกาสทางการค้า  จาการยกเลิกอุปสรรคภาษีและที่มิใช่ภาษีจะเปิดโอกาสให้สินค้า  เคลื่อนย้ายเสรี
          2. คาดว่า  การส่งออกไทยไปอาเซียนจะสามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 18 - 20%  ต่อปี
          3. เปิดโอกาสการค้าบริการ  ในสาขาที่ไทยมีความเข้มแข็ง  เช่น  ท่องเที่ยว  โรงแรมและร้านอาหาร  สุขภาพ  ทำให้ไทยมีรายได้จากการค้าบริการไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น
          4. สร้างเสริมโอกาสการลงทุน เมื่อมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้เสรียิ่งขึ้น  อุปสรรคการลงทุนระหว่างอาเซียน จะลดลง  อาเซียนจะเป็นเขตการลงทุนที่น่าสนใจทัดเทียมจีนและอินเดีย
          5. เพิ่มพูนขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย เมื่อมีการใช้ทรัพยากรการผลิตร่วมกัน/เป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับอาเซียนอื่น ทำให้เกิดความได้เปรียบเชิงแข่งขัน (Comparative Advantage)  และลดต้นทุนการผลิต
          6. เพิ่มอำนาจการต่อรองของไทยในเวทีการค้าโลก  สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาคมโลก
          7. ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ  ผลการศึกษา   แสดงว่า AEC  จะทำให้รายได้ที่แท้จริงของอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3  หรือคิดเป็นมูลค่า 69  พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

 ผลกระทบของประเทศไทยจากการเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC 
          1. การเปิดตลาดเสรีการค้าและบริการย่อมจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันต่ำ
          2. อุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในประเทศต้องเร่งปรับตัว

 ข้อเสนอแนะในการเตรียมตัวของไทยสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC 
          แนวทางที่ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากมีการรวมตัวเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC คือ ภาครัฐเองไม่ได้นิ่งนอนใจต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น  โดยเฉพาะกิจการ/อุตสาหกรรมที่ไม่มีความ  พร้อมในการแข่งขัน  โดยแผนงานรองรับผลกระทบที่ได้มีการดำเนินงานมาแล้ว  ได้แก่
          1. การจัดตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและบริการ  ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี ทางการค้า (ตามมติคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่  8  พฤษภาคม  2550)  เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ผลิต และผู้ประกอบการสินค้าเกษตรแปรรูป  สินค้าอุตสาหกรรม  และบริการ  ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าให้สามารถปรับตัวหรือปรับเปลี่ยนให้สามารถแข่งขันได้
          2. มาตรการป้องกันผลกระทบ  ก่อนหน้านี้  กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอจัดทำกฎหมายซึ่งได้ผ่านสภานิติบัญญัติออกมาเป็น  พรบ.  มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard  Measure)  ซึ่งหากการดำเนินการตาม AEC  Blueprint  ก่อให้เกิดผลกระทบก็สามารถนำกฎหมายนี้มาใช้ได้
          3. การจัดตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการตามแผนงานไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  (ตามคำสั่ง กนศ. ที่ 1/2550  ลงวันที่  14  มิถุนายน  2550)  เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนงานและเตรียมการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในการดำเนินงานไปสู่การเป็น AEC โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน

ขอขอบพระคุณที่มา http://aec.kapook.com/view50473.html

วันพุธที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557

วิจัย ชี้ ชาวกรุงเทพฯ เกินครึ่งไม่ทราบว่า เออีซี คืออะไร

 กฎบัตรอาเซียน ... ข้อตกลงร่วมกันของประชาคมอาเซียน
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          ผลวิจัย ชี้ ประชาชนชาวกรุงเทพฯ เกินครึ่งไม่ทราบว่า เออีซี คืออะไร และประชาชนต่ำกว่าครึ่ง ยังไม่พร้อมเข้าสู่เออีซี

          เมื่อ วานนี้ (7 กรกฎาคม 2556) นายศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) เปิดเผยผลสำรวจความรับรู้ของประชาชนทั่วไปต่อการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า ประชาชนร้อยละ 54.28 ไม่ทราบว่าเออีซี ย่อมาจากอะไร อย่างไรก็ตาม ประชาชนร้อยละ 74.41 ทราบว่า เออีซีมีผลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป

          นอกจากนี้ ในกลุ่มตัวอย่างจำนวนร้อยละ 49.36 มีความพร้อมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเออีซี ทว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 30.15 ระบุว่า ยังไม่มีความพร้อม

          สำหรับความเข้าใจการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในเชิงปฏิบัติ ประชาชนร้อยละ 86.25 มองว่า เป็นการเดินทางไปลงทุน ดำเนินธุรกิจของประชาชนในประเทศอาเซียนได้อย่างเสรี ขณะ ที่ร้อยละ 83.42 เข้าใจว่า รัฐบาลประเทศอาเซียนได้มีโอกาสต่อรองผลประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ระหว่างกัน และร้อยละ 81.15 เข้าใจว่า รัฐบาลประเทศอาเซียนได้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจร่วมกัน

          ส่วนประเด็นเรื่องทักษะที่ตัวเองต้องพัฒนามากที่สุดเพื่อเตรียมพร้อมเออีซี กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 55.79 มองว่าเป็นทักษะด้านภาษา, ร้อยละ 17.94 มองว่าเป็นทักษะด้านแรงงาน และ ร้อยละ 15.39 มองว่าเป็นทักษะคุณวุฒิการศึกษา

          ผลดีที่คาดว่าจะได้รับเมื่อเข้าสู่เออีซี ร้อยละ 76.78 มองว่า มีโอกาสได้ไปทำงานในประเทศอื่นของอาเซียน, ร้อยละ 75.68 มองว่า มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อในประเทศอาเซียนมากขึ้น และร้อยละ 74.59 มองว่า มีสินค้าและบริการให้เลือกมากขึ้น

          ผลเสียที่คาดว่าจะเกิดขึ้น พบว่า ร้อยละ 77.87 มองว่า จะถูกชาวต่างชาติแย่งงานทำ, ร้อยละ 71.04 มองว่า ได้ใช้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพแย่ลง และร้อยละ 66.76 มองว่า รายได้จากการประกอบอาชีพลดน้อยลง

ขอบคุณที่มา : http://aec.kapook.com/view66084.html
ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=190034&catid=176&Itemid=524#.Uyl1jYXI8pk

วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เผยกลไกสมองในการควบคุมอารมณ์ตนเอง

04
 
การระงับอารมณ์ของตัวเอง กับการได้รับคำสั่งให้เก็บอารมณ์ของตัวเองนั้น ส่งผลให้สมองถูกกระตุ้นไม่เหมือนกัน จากการค้นพบของนักวิทยาสตร์อังกฤษและเบลเยี่ยม
 
งานวิจัยจากสถาบันประสาทวิทยาการรับรู้ มหาวิทยาลัยลอนดอน อังกฤษ และมหาวิทยาลัยเกนท์ เบลเยี่ยม ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการ Brain Structure and Function แล้ว โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการสแกนสมองของอาสาสมัครแล้วพบว่า ระบบสมองบางส่วนจะถูกกระตุ้นเมื่อคนๆหนึ่งเลือกที่จะเก็บอารมณ์ความรู้สึก ของตัวเองเอาไว้ด้วยการตัดสินใจของตัวเอง
 
"ผลการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่า การควบคุมความรู้สึกของตัวเองเกี่ยวข้องกับสมองคนละส่วนกับที่เมื่อได้รับคำ สั่งให้ตอบสนองต่ออารมณ์อย่างไร" ดร.ไซม่อน คุห์น แห่งมหาวิทยาเกนท์ หัวหน้าทีมวิจัยเผย
 
ในการศึกษาก่อนหน้านี้ อาสาสมัคมักจะได้รับคำสั่งให้ควบคุมความรู้สึกของตัวเองเอาไว้ แต่ในชีวิตประจำวันของคนนั้น ไม่มีใครได้รับคำสั่งให้เก็บระงับความรู้สึกของตัวเองเอาไว้ และโดยส่วนใหญ่แล้วก็มักจะมาจากการตัดสินใจของตัวเองว่าจะรู้สึกหรือควบคุม อารมณ์ตนเองอย่างไร
 
ในการศึกษาครั้งใหม่นี้ นักวิจัยได้แสดงภาพที่น่ากลัวหรือภาพที่ทำให้รู้สึกไม่ดีต่อผู้หญิง 15 คน อาสาสมัครกลุ่มนี้สามารถเลือกได้เองว่าจะแสดงความรู้สึกนั้นออกมาเมื่อเห็น ภาพหรือจะเก็บความรู้สึกเอาไว้
 
นักวิจัยได้ใช้  functional magnetic resonance imaging (fMRI) ทำการสแกนสมองของอาสาสมัคร และได้เปรียบเทียบกิจกรรมของสมองกับการทดลองอื่นที่อาสาสมัครแต่ละคนได้รับ คำสั่งให้แสดงความรู้สึกออกมา หรือได้รับคำสั่งให้เก็บความรู้สึกเอาไว้ (ไม่ได้เลือกด้วยตัวเอง)
 
นักวิจัยพบว่า สถานการณ์ที่แตกต่างกันดังกล่าวนี้ ทำให้สมองถูกกระตุ้นคนละส่วนกัน เมื่ออาสาสมัครตัดสินใจว่าจะเก็บความรู้สึกลบเอาไว้ นักวิทยาศาสตร์พบว่า สมองส่วน dorso-medial prefrontal จะได้รับการกระตุ้น ซึ่งฏ็สอดคล้องกับสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจว่าจะยับยั้งการ เคลื่อนไหว
 
ตรงกันข้าม อาสาสมัครในอีกการทดลองหนึ่งที่ได้รับคำสั่งว่าต้องเก็บความรู้สึกเอาไว้ จะมีกระตุ้นที่สมองส่วน lateral มากกว่า
 
"เราคิดว่า การควบคุมความรู้สึกของคนๆหนึ่ง กับการควบคุมพฤติกรรมของคนๆหนึ่ง มีกลไกที่ซ้อนเหลื่อมกัน" ดร.คุห์นเผย
 
"เราควรจะแยกแยกว่า การควบคุมความรู้สึกแบบสมัครใจกับแบบได้รับคำสั่ง มันไม่เกี่ยวข้องกันเลย เราต้องแยกแบบเดียวกับที่เราแยกว่า อันไหนที่เราตัดสินใจทำเอง กันอันไหนที่ได้รับคำสั่งให้ทำ"
 
การควบคุมอารมณ์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา และเป็นสิ่งที่สำคัญต่อสุขภาพจิตของคน ตัวอย่างเช่น หลายคนมักจะกลัวที่จะต้องพูดต่อสาธารณชน ขณะที่บางคนเช่น พนักงานดับเพลิง จะต้องควบคุมความกลัวที่เกิดขึ้นในอาชีพของตัวเอง
 
ศาสตราจารย์แพทริก ฮากการ์ด แห่งสถาบันประสาทวิทยาการรับรู้ มหาวิทยาลัยลอนดอน นักวิจัยร่วมในงานวิจัยครั้งนี้ชี้ว่า การศึกษาครั้งน่าจะทำให้เราไปสู่วิธีการรักษาได้ดียิ่งขึ้น
 
"ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของคนก็เป็นผลมาจากสุขภาพจิตของแต่ละคนเช่นกัน ดังนั้น การศึกษากลไกนี้ทำให้เรานำไปต่อยอดได้อีกมาก"
 
"การศึกษาส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางอารมณ์ในสมองต่างก็ตั้ง สมมติฐานว่า คนจะถูกกระตุ้นแล้วจึงเกิดอารมณ์ และก็จะตอบสนองต่ออารมณ์นั้นโดยอัตโนมัติ แต่ในทางตรงข้ามแล้ว พื้นที่สมองที่ถูกกระตุ้นแล้วแท้ที่จริงก็ขึ้นกับความสามารถของแต่ละคนในการ ควบคุมอารมณ์ต่างๆด้วย"
 
"กลไกการควบคุมตนเองนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ดี เช่นว่า เราอาจจะโดนมองไม่ดีหากว่าแสดงออกทางอารมณ์ตรงเกินไป แต่การเก็บอารมณ์เกินไปจนฟังก์ชันส่วนนี้ในสมองเปลี่ยนไป อาจจะทำให้เราเลือกการตอบสนองต่ออารมณ์หนึ่งๆยากขึ้นไปด้วย ก็เป็นได้"
 
อ้างอิง: University College London (2013, May 9). Brain system for emotional self-control discovered. ScienceDaily. Retrieved May 10, 2013, from http://www.sciencedaily.com/releases/2013/05/130509104354.htm
งานวิจัย: http://www.eurekalert.org/pub_releases/2013-05/ucl-sfb050913.php 

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : http://vcharkarn.com/vnews/446838

วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กาแฟช่วยเพิ่มทักษะการใช้ภาษา

กาแฟ เครื่องดื่มยอดฮิตสำหรับคนทำงานในปัจจุบัน ถึงแม้จะรู้ว่าผลเสียของกาแฟมีมากมายไม่ว่าจะเป็นทำให้หัวใจเต้นเร็ว เพิ่มความดันเลือด หรือแม้กระทั่งก่อให้เกิดโรคนอนไม่หลับ หรือเป็นโรควิตกกังวลก็ตาม ถึงกระนั้นกาแฟก็ยังคงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น



       งาน วิจัยชิ้นนี้ คงเป็นข่าวดีสำหรับคอกาแฟทุกท่าน หลังจากที่ได้ยินผลเสียของกาแฟมาอย่างมากมาย ทีมนักจิตวิทยานำโดย Lars Kuchinke จากมหาวิทยาลัย Ruhr ประเทศเยอรมณี ได้พยายามศึกษาว่า คาเฟอีนมีผลกระทบกับความสามารถในการจัดเรียงคำที่ให้อารมณ์ความรู้สึกเชิง บวก เชิงลบ หรือเป็นกลางหรือไม่

       งานวิจัยก่อนหน้านี้ได้ทดสอบโดยให้อาสาสมัครดูตัวอักษรที่อยู่บนหน้าจอ คอมพิวเตอร์แล้วตัดสินใจว่า ตัวอักษรเหล่านั้นสามารถเรียงเป็นคำได้หรือไม่ พบว่าอาสาสมัครมีแนวโน้มที่จะคิดและเรียงตัวอักษรได้อย่างรวดเร็ว โดยคำที่เรียงออกมามักจะมีความหมายในแง่ดีมากกว่าแง่ร้าย และผลงานวิจัยอีกงานหนึ่งชี้ให้เห็นว่า คาเฟอีนช่วยให้อาสาสมัครตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้เร็วขึ้นและมีความผิดพลาดลด ลง



       Lars Kuchinke และคณะได้สันนิษฐานว่า คาเฟอีนจะช่วยให้อาสาสมัครสามารถจัดเรียงคำศัพท์ที่มีความหมายในแง่บวกหรือ ลบได้อย่างรวดเร็ว โดยงานวิจัยนี้ได้แบ่งอาสาสมัครเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ให้อาสาสมัครทั้ง 33 คนรับประทานยาเม็ดที่ประกอบด้วยคาเฟอีนปริมาณ 200 มก. ซึ่งเทียบเท่ากับการดื่มกาแฟ 2-3 แก้ว และอาสาสมัครกลุ่มที่ 2 จำนวน 33 คน ทานยาเม็ดที่บรรจุน้ำตาลแลคโตสซึ่งไม่มีผลใดๆ กับร่างกาย

       ผลการทดลองพบว่า อาสาสมัครกลุ่มที่รับประทานคาเฟอีนเม็ดสามารถเรียงคำที่มีความหมายเชิงบวก ได้เร็วขึ้นและมีความถูกต้องมากขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่มีความแตกต่างเมื่อเป็นคำที่มีความหมายเชิงลบหรือมีความหมายกลางๆ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ทานยาเม็ดที่บรรจุน้ำตาลแลคโตส

       เหตุผลที่อาสาสมัครสามารถจัดเรียงคำทีมีความหมายในเชิงบวกได้ดีกว่าและรวด เร็วกว่า เนื่องจากคาเฟอีนไปกระตุ้นการทำงานของสมองซึกซ้าย ซึ่งทำหน้าที่ในการคิดวิเคราะห์ การใช้ตรรกศาสตร์และการใช้ภาษา ทำให้อาสาสมัครสามารถจัดเรียงคำได้เร็วมากขึ้น และยังไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งเป็นศูนย์กลางควบคุมการทำงานของร่างกาย คอยรวบรวมข้อมูลและตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ เพิ่มการหลังโดปามีน ซึ่งเป็นสารที่ทำหน้าที่ในการควบคุมอารมณ์ การเรียบเรียงความนึกคิด การทำหน้าที่ของสมองในการควบคุมการเคลื่อนไหว และยังเป็นสารที่เกี่ยวข้อกับอารมณ์พึงพอใจ ทำให้เกิดความสุข และเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งการเพิ่มการหลั่งของโดปามีนนี้เอง น่าจะเป็นเหตุผลให้ตอบสนองต่อคำที่มีความหมายเชิงบวก



       นักวิทยาศาสตร์ยังไม่หยุดการศึกษาไว้เพียงเท่านี้ แต่ยังวางแผนไว้ว่าจะตรวจสอบผลของคาเฟอีนด้วยการแสกนการทำงานของสมอง เพื่อดูความเชื่อมโยงระหว่างการคิดในแง่ดีกับการหลั่งของโดปามีนอีกด้วย




ขอบคุณข้อมูลจาก http://healthmad.com/health/coffee-can-make-us-happier/

                            http://www.vcharkarn.com/vnews/154687

วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

น้ำแข็ง อันตรายกว่าที่คิด


         

          ในแต่ละวันแทบทุกคนล้วนต้องเกี่ยวพันกับเจ้าน้ำแข็งใสๆ กันใช่ไหมคะ?   ไม่ว่าจะมาจากการไปรับประทานอาหารนอกบ้าน เช่นที่ภัตตาคาร ร้านอาหาร ไปจนถึงร้านเครื่องดื่มข้างทางหรือหน้าออฟฟิศ แล้วรู้กันไหมคะว่า เห็นหน้าตาใส ๆ เย็น ๆ แบบนี้ มีอันตรายแฝงอยู่อย่างไม่น่าเชื่อ?!

          หลายคนอาจสงสัยว่า เอ๊ะ!..น้ำแข็งก็ทำมาจากน้ำทั้งหมด 100% แล้วอันตรายจะมาจากตรงไหน ?   อันตรายที่ควรระวังจากน้ำแข็งนั้นคืออะไรกัน? 


          น้ำแข็งที่เราบริโภคกันโดยส่วนใหญ่ มาจาก 2 แหล่งหลักๆ คือ น้ำแข็งที่ผลิตมาจากโรงงานผลิตน้ำแข็ง และน้ำแข็งที่ผลิตจากเครื่องทำน้ำแข็งอัตโนมัติ ไม่นับที่แช่ทำเองในตู้เย็นบ้านเรานะคะ
          อันตรายจากน้ำแข็งที่ว่านี้ ส่วนใหญ่ที่เราควรระมัดระวังกันก็คือ เชื้อโรค หรือจุลินทรีย์ในกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคที่ปะปนมาจากการผลิตและการขนส่งกันนั่นเองค่ะ   เห็นไหมคะว่า เป็นภัยร้ายที่มองไม่เห็นกันจริง ๆ หากเราเคยติดตามข่าวสารของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข อาจเคยได้ยินอยู่บ่อย ๆ กับการตรวจพบจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคในน้ำแข็งมีเกินมาตรฐาน

          เช่น กรณีการพบโรงงานน้ำแข็งหลอดย่านบางเขน ซึ่งปรับที่พักเป็นโรงงานผลิต เมื่ออย.เข้าตรวจและนำตัวอย่างส่งตรวจ พบปนเปื้อนเชื้อโรคเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ อี.โคไล จุลินทรีย์ซาลโมเนลล่า ตัวการโรคท้องร่วง ซึ่งปกติเชื้อโรคดังกล่าวจะปนเปื้อนในอุจจาระเท่านั้น


          ภัยที่น่ากลัวจากน้ำแข็งนี้มาจากกระบวนการผลิตและการขนส่งของโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีจิตสำนึกที่ดีในการผลิตอาหารให้ปลอดภัย ตั้งแต่มาตรฐานน้ำที่จะนำมาผลิตน้ำแข็งเพื่อการบริโภค ก็ควรต้องเป็นน้ำมาตรฐานน้ำบริโภค และผู้เขียนเองมั่นใจว่า โรงงานน้ำแข็งที่ผลิตภายใต้สุขลักษณะที่ดี และผ่านการตรวจสอบคุณภาพ และการประเมินโรงงานตามกระทรวงสาธารณสุขนั้นมีน้อยมาก
          น้ำแข็งที่เราบริโภคกันในปัจจุบันมีมากมายหลายชนิด ตั้งแต่น้ำแข็งหลอด น้ำแข็งเกล็ด น้ำแข็งโม่ หรือน้ำแข็งป่น (ที่โม่และป่นมาจากน้ำแข็งซอง สมัยก่อนเรียก น้ำแข็งมือ นึกภาพง่ายๆ คือ น้ำแข็งก้อนใหญ่ๆ ที่นำมาทำเป็นน้ำแข็งใสนั่นเอง)


          น้ำแข็งที่เราควรระวังมากที่สุด คือ น้ำแข็งโม่ หรือน้ำแข็งป่น  โดยเฉพาะที่ผลิตจากโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน และร้านอาหารตามสั่งร้านขายเครื่องดื่มทั่วไปนิยมใช้ใส่แก้วมาให้เรา ในน้ำแข็งพวกนี้พบว่า มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคตั้งแต่แหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำแข็ง กระบวนการตัดก้อนน้ำแข็งให้มีขนาดเล็กลงจากการใช้ใบมีดที่เป็นเหล็กและมีสนิม

         และอีกปัจจัยหนึ่งคือ  โรงงานผลิตน้ำแข็งที่ไม่ได้มาตรฐาน  ที่พบเห็นอยู่บ่อย ๆ  คือพนักงานไม่สวมเสื้อทำงาน ใส่เพียงกางเกงขาสั้น และรองเท้าบูท เดินบนลานน้ำแข็งไปมา ส่วนบรรจุภัณฑ์ก็มักใช้เป็นกระสอบเก่าใบสีขาว ที่เคยใส่ข้าวสาร ใส่แป้ง และไม่แน่ใจว่าจะเอากระสอบสารเคมีอะไรมาใส่หรือเปล่า มีกระบวนการในการล้างทำความสะอาดกระสอบที่เวียนกลับมาใช้หรือไม่


          นอกจากนี้ยังไม่รวมการปนเปื้อนเมื่อมาถึงที่ร้านแล้ว หากแม่ค้าพ่อค้าไม่ใส่ใจความสะอาด นำน้ำแข็งมาแช่ในถังที่เดียวกับหมูสด ผักสดที่ใช้เป็นวัตถุดิบต่างๆ  ฟังเท่านี้แล้วอาจเลิกทานน้ำแข็งประเภทนี้กันไปเลยใช่ไหมคะ

          สังเกตไหมคะว่า ชาวต่างชาติจะกลัวน้ำแข็งบ้านเรามากๆ เพราะหลายต่อหลายรายท้องเสีย ท้องร่วง อาหารเป็นพิษเข้าโรงพยาบาลเพียงเพราะน้ำแข็งกัน และหลายครั้งที่เราก็มีอาการเดียวกัน แต่มัวไปคิดถึงว่า เราไปทานอะไรมา โดยที่ทุกๆ คนจะมองข้ามน้ำแข็งไป


          นอกจากนี้ เคยลองสังเกตน้ำแข็งแต่ละร้านที่เราทานเข้าไปกันบ้างไหมคะว่าสะอาดหรือไม่ แค่ลองสังเกตดูก้นแก้วเวลาที่น้ำแข็งละลายหมดแล้ว บางร้านผู้เขียนเคยเห็นว่า มีตะกอนสิ่งสกปรกตกอยู่ที่ก้นแก้วจำนวนมาก นี่แค่สิ่งที่มองเห็นได้เท่านั้นนะคะ

          ดังนั้นหากเราอยากทานน้ำแข็งที่สะอาดปลอดภัย จึงควรใส่ใจกับแหล่งที่มา และพยายามสังเกตน้ำแข็งจากร้านที่เราทานว่า สะอาดเพียงพอหรือไม่ ควรเลือกทานน้ำแข็งที่ผลิตโดยเครื่องอัตโนมัติ เพราะมีความเสี่ยงน้อยกว่า หรือเลือกทานน้ำแข็งอนามัยที่ผ่านการรับรองคุณภาพตามระบบ GMP หรือระบบความปลอดภัยของอาหารดีกว่าค่ะ กรณีไปซื้อเครื่องดื่มหรือทานอาหารตามร้านที่ไม่ได้ใช้น้ำแข็งที่ผลิตจากเครื่องอัตโนมัติ ก็ควรสังเกตภาชนะที่ใส่น้ำแข็งกันนะคะว่ามีความสะอาดและสุขลักษณะที่ดีเพียงใด ไม่อย่างนั้นแล้ว เราอาจได้เชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคเข้ามาในร่างกายเรา จนทำให้เราเจ็บป่วยได้นะคะ


          อยากมีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย จึงควรใส่ใจสิ่งที่เราจะทานเข้าไปกันสักนิด  อย่าลืมประโยคสำคัญที่ว่า You are what you eat  กินอะไรได้อย่างนั้นกันนะคะ.

ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก เดลินิวส์ออนไลน์

วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

โรงไฟฟ้าเทคโนถ่านหินสะอาด ทางรอดวิกฤติพลังงานชาติไทย


          

          ปัญหาการพัฒนาพลังงานของประเทศไทยยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง หลายครั้งหลายคราก็ทำให้การพัฒนาพลังงานเกิดความล่าช้า และไม่รู้ว่าจะเดินไปทิศทางไหน เพราะแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ได้สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่กันเท่าที่ควร ผลที่ตามมาจึงเป็นความเห็นที่แตกต่างกัน คงถึงเวลาที่จะต้องรีบสร้างความเข้าใจและเปิดอกรับฟังกัน เพื่อรับมือกับวิกฤติพลังงานที่จะเกิดขึ้นกับประเทศในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยมีนักวิชาการเข้ามาบรรยายให้ความรู้ในเรื่อง “โรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ทางรอดพลังงานไทย ที่ชุมชนต้องร่วมเรียนรู้” ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เนื่องจากพื้นที่นี้จะมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 600 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นในอนาคต

       อาจารย์สุรพันธ์ วงษ์โอภาสี นักวิชาการด้านพลังงานและเลขาธิการศูนย์พัฒนาการใช้ถ่านหินแห่งประเทศไทย ได้อธิบายให้เห็นยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานในภาพรวมว่า มีเรื่องที่ควรพิจารณาอยู่ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านเศรษฐศาสตร์ ที่คำนึงถึงต้นทุนการผลิตเพื่อให้ผู้ใช้ได้ใช้ไฟที่คุ้มค่าราคาถูก 2.ด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม 3.ด้านเทคโนโลยี เน้นความพร้อมและสามารถนำมาใช้ได้จริง และ 4.ด้านความมั่นคงทางพลังงาน เชื้อเพลิงต้องมีปริมาณสำรองมากพอที่จะผลิตไฟฟ้าได้อย่างมั่นคง การกำหนดยุทธศาสตร์พลังงานจึงควรมองให้ครบทั้ง 4 ด้าน ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศจะมุ่งเน้นเรื่องไหน
       สำหรับประเทศไทยมีการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าสูงถึงเกือบ 70% และมีอัตราการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 4-5% พบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเพิ่มขึ้นจาก 23,900 เมกะวัตต์ ในปี 2554 เป็น 26,121 เมกะวัตต์ ในปี 2555 ในขณะที่ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองลดลงจาก 24.17% ในปี 2554 เหลือ 16.95% ในปี 2555 หากไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น อีกประมาณ 3-4 ปี ประเทศไทยก็จะมีไฟฟ้าไม่พอใช้และเกิดไฟฟ้าดับในวงกว้าง (Blackout)

       ด้วยเหตุผลนี้ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าจากการใช้เชื้อเพลิงที่หลากหลาย เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน รวมถึงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น เนื่องจากการสร้างโรงไฟฟ้าประเภทอื่นไม่สามารถผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งถ่านหินมีปริมาณสำรองที่มากพอสำหรับรองรับการผลิตไฟฟ้าในระยะยาว


ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

10 อันดับสุดยอดภารกิจของนาซา

10 อันดับสุดยอดภารกิจของนาซา



กล้อง โทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ ซึ่งถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2009 อาจจะกลายเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่ขององค์การนาซาเช่นเดียวกับยานอพอลโล และกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล หากมันประสบความสำเร็จในการค้นพบดาวเคราะห์ขนาดเท่าโลกซึ่งโคจรรอบดาวฤกษ์ คล้ายดวงอาทิตย์ในโซนที่สิ่งมีชีวิตอยู่อาศัยได้

แน่นอนว่า กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์จะต้องถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสุดยอดภารกิจ ทางวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซาในอนาคต ซึ่งปัจจุบันเว็บไซต์สเปซดอทคอมได้จัดอันดับไว้ 10 อันดับ มาดูกันว่าภารกิจเหล่านั้นเป็นปฏิบัติการของยานอวกาศลำใดบ้าง

10.ยานไพโอเนียร์ (Pioneer)

ยาน ไพโอเนียร์ 10 และ 11 ขึ้นสู่อวกาศในปี 1972 และ 1973 ตามลำดับ เป็นยานอวกาศสองลำแรกที่สำรวจดาวก๊าซยักษ์ของระบบสุริยะของเรา คือดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ ยานไพโอเนียร์ 10 เดินทางผ่านวงแหวนดาวเคราะห์น้อยและบินผ่านดาวพฤหัสบดี มันสามารถถ่ายภาพ จุดแดงใหญ่ (Great Red Spot) พายุบนดาวพฤหัสบดีในระยะใกล้มาให้ชมกันอย่างชัดๆ

ส่วนยานไพโอเนียร์ 11 นั้นบินผ่านดาวพฤหัสบดีและเดินทางต่อไปยังดาวเสาร์ ที่นั่นมันค้นพบดวงจันทร์ขนาดเล็กของดาวเสาร์สองดวงและวงแหวนใหม่

ปัจจุบันยานทั้งสองลำหยุดส่งข้อมูลมายังโลกแล้ว และกำลังเดินทางออกนอกระบบสุริยะเช่นเดียวกับยานแฝดวอยเอเจอร์

9.ยานวอยเอเจอร์ (Voyager)

หลัง จากยานแฝดไพโอเนียร์บินผ่านดาวก๊าซยักษ์ได้ไม่นานนัก ยานอวกาศอีกสองลำก็เดินทางไปสำรวจดาวก๊าซยักษ์อย่างละเอียด นั่นคือยานวอยเอเจอร์ 1 และวอยเอเจอร์ 2 ยานทั้งสองลำได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ เกี่ยวกับดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์มากมาย เช่น พบวงแหวนของดาวพฤหัสบดี ภูเขาไฟบนดวงจันทร์ไอโอ บริวารของดาวพฤหัสบดี เป็นต้น


วอ ยเอเจอร์ยังเป็นยานลำแรกที่บินผ่านดาวยูเรนัสและเนปจูนอีกด้วย มันค้นพบดวงจันทร์ใหม่ของดาวยูเรนัสมากถึง 10 ดวง และพบว่าดาวเนปจูนมีน้ำหนักน้อยกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยประมาณไว้

ปัจจุบันยานแฝดวอยเอเจอร์กำลังเดินทางออกนอกระบบสุริยะเพื่อสำรวจอวกาศระหว่างดวงดาว และขณะนี้มันกำลังสำรวจบริเวณขอบระบบสุริยะ

8.ยานดับเบิลยูแมพ (WMAP)

ยาน หรือดาวเทียมดับเบิลยูแมพ (Wilkinson Microwave Anisotropy Probe -WMAP) ชื่อไม่คุ้นหูนักแต่สร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อการศึกษาจักรวาล นั่นคือการวัดอุณหภูมิของรังสีที่เหลืออยู่หลังการระเบิดบิ๊กแบง จากการทำแผนที่การกระเพื่อมของรังสีที่เรียกกันว่ารังสีฉากหลังของจักรวาลทำ ให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจธรรมชาติและจุดกำเนิดของจักรวาล

ข้อมูลจาก ยาน WMAP ยังทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวัดอายุของจักรวาลได้เท่ากับ 13.7 พันล้านปี และยืนยันว่านอกจากสสารปกติแล้ว ส่วนประกอบของจักรวาลประมาณ 95% เป็นสสารมืดและพลังงานมืด

7.กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope)

นี่ คือหนึ่งในกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ทำให้นักจักรวาลวิทยาและนักฟิสิกส์ดารา ศาสตร์เข้าใจจักรวาลมากขึ้นผ่านดวงตาอินฟราเรดของมัน ภาพถ่ายกาแล็กซี่ เนบิวลา และดาวฤกษ์จำนวนมากทำให้เกิดการค้นพบใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์ ในปี 2005 กล้องอวกาศสปิตเซอร์กลายเป็นกล้องตัวแรกที่สามารถตรวจจับแสงของดาวเคราะห์ นอกระบบสุริยะได้

นักดาราศาสตร์หลายคนเชื่อว่า วันหนึ่งกล้องอวกาศสปิตเซอร์จะสามารถตรวจจับแสงจากดาวฤกษ์ดวงแรกๆ ที่กำเนิดขึ้นในจักรวาลได้



6.รถหุ่นยนต์สปิริตและอ๊อพพอร์จูนิตี้ (Spirit & Opportunity)

ภารกิจ ของรถหุ่นยนต์สปิริตและอ๊อพพอร์จูนิตี้ คือสำรวจพื้นผิวดาวอังคารเพื่อค้นหาร่องรอยของน้ำเป็นเวลา 90 วันหลังจากยานแม่นำมันลงบนพื้นผิวดาวอังคารในเดือน มกราคม ปี 2004 ทว่า รถหุ่นยนต์ทั้งสองคันปฏิบัติภารกิจบนดาวอังคารได้ยาวนานกว่า 5 ปี โดยปัจจุบันก็ยังคงทำการสำรวจอยู่ ผลงานที่ยอดเยี่ยมคือการค้นพบหลักฐานร่องรอยน้ำบนพื้นผิวดาวอังคารในอดีต

5.ยานแคสสินีและฮอยเกนส์ (Cassini-Huygens)

โครง การแคสสินี-ฮอยเกนส์ เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การนาซากับองค์การอวกาศยุโรป ยานแม่แคสสินีและยานลูกฮอยเกนส์ออกเดินทางจากโลกเมื่อปี 2004 เป้าหมายคือ ดาวเสาร์ วงแหวน และดวงจันทร์บริวาร ยานฮอยเกนส์ขององค์การอวกาศยุโรปดีดตัวออกจากยานแคสสินีลงสู่พื้นผิวดวง จันทร์ไททันได้สำเร็จเมื่อปี 2005 ทำให้นักวิทยาศาสตร์เห็นรายละเอียดพื้นผิวดวงจันทร์ไททันใกล้ๆ เป็นครั้งแรก

แม้ ว่าจะมียานอวกาศหลายลำเคยสำรวจดาวเสาร์มาแล้ว แต่ทว่า ยานแคสสินีเป็นยานลำแรกที่โคจรรอบดาวเสาร์และศึกษาดาวเสาร์และดวงจันทร์ บริวารอย่างละเอียด

4.กล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีเอ็กซ์จันทรา (Chandra X-ray Observatory)

ปี 1999 องค์การนาซาได้ส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีเอ็กซ์จันทราขึ้นสู่อวกาศ มันเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่สแกนท้องฟ้าเพื่อศึกษาปรากฏการณ์ทางดารา ศาสตร์ที่น่าพิศวงซึ่งอยู่ไกลโพ้นอย่างเช่นการระเบิดซุปเปอร์โนวาโดยการตรวจ จับรังสีเอ็กซ์ กล้องอวกาศนี้มีประสิทธิภาพสูงกว่ากล้องโทรทรรศน์รังสีเอ็กซ์ที่มีอยู่ ถึง100เท่า

ผลงานเด่นของกล้องอวกาศรังสีเอ็กซ์จันทราคือการแสดงให้เห็นเศษซากของดาวฤกษ์ที่หลงเหลืออยู่จากการระเบิดซุปเปอร์โนวาแคสซิโอเปีย

3.ยานไวกิ้ง (Viking)

เมื่อ ยานไวกิ้งทัชดาวน์พื้นผิวดาวอังคารในเดือนกรกฎาคม ปี 1976 มันได้กลายเป็นยานที่ไร้คนขับลำแรกที่ร่อนลงบนดาวอังคารอย่างปลอดภัย ยานไวกิ้งได้ส่งภาพสีพื้นผิวดาวอังคารมายังโลก ทำให้เราเห็นพื้นผิวสีแดง บนดาวดวงนี้เป็นครั้งแรก

ยานไวกิ้งยังเป็นเจ้าของสถิติการสำรวจพื้นผิวดาวอังคารที่นานที่สุด คือ 6 ปีกับอีก 116 วัน อีกด้วย

2.กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope)

นี่ คือสุดยอดของยานอวกาศของนาซา และเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก มันเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ที่เป็นชัยชนะของนักวิทยาศาสตร์ในการขจัดอุปสรรคขวางกั้นของชั้นบรรยากาศของ โลกที่บดบังท้องฟ้า

กล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลส่งภาพถ่ายที่เปลี่ยนแปลงความคิดที่นักวิทยาศาสตร์มีต่อปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์แทบจะเป็นรายวันเลยทีเดียว

1.ยานอพอลโล (Apollo)

ภารกิจ ทางวิทยาศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดขององค์การนาซาก็คือ ภารกิจของยานอพอลโลซึ่งไม่เพียงสร้างประวัติศาสตร์ในการนำมนุษย์ลงเหยียบบน ดวงจันทร์เท่านั้น แต่ยังเป็นปฏิบัติการแรกที่นำวัตถุจากนอกโลกกลับมายังโลกอีกด้วย

จาก การศึกษาพื้นผิวดวงจันทร์ของมนุษย์อวกาศและหินที่นำกลับมาจากดวงจันทร์ ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เรียนรู้อายุและส่วนประกอบของดวงจันทร์และแม้กระทั่ง จุดกำเนิดของดวงจันทร์ด้วย

ที่มา หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.dek-d.com/board/view.php?id=1259206