วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

น้ำแข็ง อันตรายกว่าที่คิด


         

          ในแต่ละวันแทบทุกคนล้วนต้องเกี่ยวพันกับเจ้าน้ำแข็งใสๆ กันใช่ไหมคะ?   ไม่ว่าจะมาจากการไปรับประทานอาหารนอกบ้าน เช่นที่ภัตตาคาร ร้านอาหาร ไปจนถึงร้านเครื่องดื่มข้างทางหรือหน้าออฟฟิศ แล้วรู้กันไหมคะว่า เห็นหน้าตาใส ๆ เย็น ๆ แบบนี้ มีอันตรายแฝงอยู่อย่างไม่น่าเชื่อ?!

          หลายคนอาจสงสัยว่า เอ๊ะ!..น้ำแข็งก็ทำมาจากน้ำทั้งหมด 100% แล้วอันตรายจะมาจากตรงไหน ?   อันตรายที่ควรระวังจากน้ำแข็งนั้นคืออะไรกัน? 


          น้ำแข็งที่เราบริโภคกันโดยส่วนใหญ่ มาจาก 2 แหล่งหลักๆ คือ น้ำแข็งที่ผลิตมาจากโรงงานผลิตน้ำแข็ง และน้ำแข็งที่ผลิตจากเครื่องทำน้ำแข็งอัตโนมัติ ไม่นับที่แช่ทำเองในตู้เย็นบ้านเรานะคะ
          อันตรายจากน้ำแข็งที่ว่านี้ ส่วนใหญ่ที่เราควรระมัดระวังกันก็คือ เชื้อโรค หรือจุลินทรีย์ในกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคที่ปะปนมาจากการผลิตและการขนส่งกันนั่นเองค่ะ   เห็นไหมคะว่า เป็นภัยร้ายที่มองไม่เห็นกันจริง ๆ หากเราเคยติดตามข่าวสารของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข อาจเคยได้ยินอยู่บ่อย ๆ กับการตรวจพบจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคในน้ำแข็งมีเกินมาตรฐาน

          เช่น กรณีการพบโรงงานน้ำแข็งหลอดย่านบางเขน ซึ่งปรับที่พักเป็นโรงงานผลิต เมื่ออย.เข้าตรวจและนำตัวอย่างส่งตรวจ พบปนเปื้อนเชื้อโรคเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ อี.โคไล จุลินทรีย์ซาลโมเนลล่า ตัวการโรคท้องร่วง ซึ่งปกติเชื้อโรคดังกล่าวจะปนเปื้อนในอุจจาระเท่านั้น


          ภัยที่น่ากลัวจากน้ำแข็งนี้มาจากกระบวนการผลิตและการขนส่งของโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีจิตสำนึกที่ดีในการผลิตอาหารให้ปลอดภัย ตั้งแต่มาตรฐานน้ำที่จะนำมาผลิตน้ำแข็งเพื่อการบริโภค ก็ควรต้องเป็นน้ำมาตรฐานน้ำบริโภค และผู้เขียนเองมั่นใจว่า โรงงานน้ำแข็งที่ผลิตภายใต้สุขลักษณะที่ดี และผ่านการตรวจสอบคุณภาพ และการประเมินโรงงานตามกระทรวงสาธารณสุขนั้นมีน้อยมาก
          น้ำแข็งที่เราบริโภคกันในปัจจุบันมีมากมายหลายชนิด ตั้งแต่น้ำแข็งหลอด น้ำแข็งเกล็ด น้ำแข็งโม่ หรือน้ำแข็งป่น (ที่โม่และป่นมาจากน้ำแข็งซอง สมัยก่อนเรียก น้ำแข็งมือ นึกภาพง่ายๆ คือ น้ำแข็งก้อนใหญ่ๆ ที่นำมาทำเป็นน้ำแข็งใสนั่นเอง)


          น้ำแข็งที่เราควรระวังมากที่สุด คือ น้ำแข็งโม่ หรือน้ำแข็งป่น  โดยเฉพาะที่ผลิตจากโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน และร้านอาหารตามสั่งร้านขายเครื่องดื่มทั่วไปนิยมใช้ใส่แก้วมาให้เรา ในน้ำแข็งพวกนี้พบว่า มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคตั้งแต่แหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำแข็ง กระบวนการตัดก้อนน้ำแข็งให้มีขนาดเล็กลงจากการใช้ใบมีดที่เป็นเหล็กและมีสนิม

         และอีกปัจจัยหนึ่งคือ  โรงงานผลิตน้ำแข็งที่ไม่ได้มาตรฐาน  ที่พบเห็นอยู่บ่อย ๆ  คือพนักงานไม่สวมเสื้อทำงาน ใส่เพียงกางเกงขาสั้น และรองเท้าบูท เดินบนลานน้ำแข็งไปมา ส่วนบรรจุภัณฑ์ก็มักใช้เป็นกระสอบเก่าใบสีขาว ที่เคยใส่ข้าวสาร ใส่แป้ง และไม่แน่ใจว่าจะเอากระสอบสารเคมีอะไรมาใส่หรือเปล่า มีกระบวนการในการล้างทำความสะอาดกระสอบที่เวียนกลับมาใช้หรือไม่


          นอกจากนี้ยังไม่รวมการปนเปื้อนเมื่อมาถึงที่ร้านแล้ว หากแม่ค้าพ่อค้าไม่ใส่ใจความสะอาด นำน้ำแข็งมาแช่ในถังที่เดียวกับหมูสด ผักสดที่ใช้เป็นวัตถุดิบต่างๆ  ฟังเท่านี้แล้วอาจเลิกทานน้ำแข็งประเภทนี้กันไปเลยใช่ไหมคะ

          สังเกตไหมคะว่า ชาวต่างชาติจะกลัวน้ำแข็งบ้านเรามากๆ เพราะหลายต่อหลายรายท้องเสีย ท้องร่วง อาหารเป็นพิษเข้าโรงพยาบาลเพียงเพราะน้ำแข็งกัน และหลายครั้งที่เราก็มีอาการเดียวกัน แต่มัวไปคิดถึงว่า เราไปทานอะไรมา โดยที่ทุกๆ คนจะมองข้ามน้ำแข็งไป


          นอกจากนี้ เคยลองสังเกตน้ำแข็งแต่ละร้านที่เราทานเข้าไปกันบ้างไหมคะว่าสะอาดหรือไม่ แค่ลองสังเกตดูก้นแก้วเวลาที่น้ำแข็งละลายหมดแล้ว บางร้านผู้เขียนเคยเห็นว่า มีตะกอนสิ่งสกปรกตกอยู่ที่ก้นแก้วจำนวนมาก นี่แค่สิ่งที่มองเห็นได้เท่านั้นนะคะ

          ดังนั้นหากเราอยากทานน้ำแข็งที่สะอาดปลอดภัย จึงควรใส่ใจกับแหล่งที่มา และพยายามสังเกตน้ำแข็งจากร้านที่เราทานว่า สะอาดเพียงพอหรือไม่ ควรเลือกทานน้ำแข็งที่ผลิตโดยเครื่องอัตโนมัติ เพราะมีความเสี่ยงน้อยกว่า หรือเลือกทานน้ำแข็งอนามัยที่ผ่านการรับรองคุณภาพตามระบบ GMP หรือระบบความปลอดภัยของอาหารดีกว่าค่ะ กรณีไปซื้อเครื่องดื่มหรือทานอาหารตามร้านที่ไม่ได้ใช้น้ำแข็งที่ผลิตจากเครื่องอัตโนมัติ ก็ควรสังเกตภาชนะที่ใส่น้ำแข็งกันนะคะว่ามีความสะอาดและสุขลักษณะที่ดีเพียงใด ไม่อย่างนั้นแล้ว เราอาจได้เชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคเข้ามาในร่างกายเรา จนทำให้เราเจ็บป่วยได้นะคะ


          อยากมีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย จึงควรใส่ใจสิ่งที่เราจะทานเข้าไปกันสักนิด  อย่าลืมประโยคสำคัญที่ว่า You are what you eat  กินอะไรได้อย่างนั้นกันนะคะ.

ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก เดลินิวส์ออนไลน์

วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

โรงไฟฟ้าเทคโนถ่านหินสะอาด ทางรอดวิกฤติพลังงานชาติไทย


          

          ปัญหาการพัฒนาพลังงานของประเทศไทยยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง หลายครั้งหลายคราก็ทำให้การพัฒนาพลังงานเกิดความล่าช้า และไม่รู้ว่าจะเดินไปทิศทางไหน เพราะแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ได้สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่กันเท่าที่ควร ผลที่ตามมาจึงเป็นความเห็นที่แตกต่างกัน คงถึงเวลาที่จะต้องรีบสร้างความเข้าใจและเปิดอกรับฟังกัน เพื่อรับมือกับวิกฤติพลังงานที่จะเกิดขึ้นกับประเทศในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยมีนักวิชาการเข้ามาบรรยายให้ความรู้ในเรื่อง “โรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ทางรอดพลังงานไทย ที่ชุมชนต้องร่วมเรียนรู้” ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เนื่องจากพื้นที่นี้จะมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 600 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นในอนาคต

       อาจารย์สุรพันธ์ วงษ์โอภาสี นักวิชาการด้านพลังงานและเลขาธิการศูนย์พัฒนาการใช้ถ่านหินแห่งประเทศไทย ได้อธิบายให้เห็นยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานในภาพรวมว่า มีเรื่องที่ควรพิจารณาอยู่ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านเศรษฐศาสตร์ ที่คำนึงถึงต้นทุนการผลิตเพื่อให้ผู้ใช้ได้ใช้ไฟที่คุ้มค่าราคาถูก 2.ด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม 3.ด้านเทคโนโลยี เน้นความพร้อมและสามารถนำมาใช้ได้จริง และ 4.ด้านความมั่นคงทางพลังงาน เชื้อเพลิงต้องมีปริมาณสำรองมากพอที่จะผลิตไฟฟ้าได้อย่างมั่นคง การกำหนดยุทธศาสตร์พลังงานจึงควรมองให้ครบทั้ง 4 ด้าน ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละประเทศจะมุ่งเน้นเรื่องไหน
       สำหรับประเทศไทยมีการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าสูงถึงเกือบ 70% และมีอัตราการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 4-5% พบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเพิ่มขึ้นจาก 23,900 เมกะวัตต์ ในปี 2554 เป็น 26,121 เมกะวัตต์ ในปี 2555 ในขณะที่ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองลดลงจาก 24.17% ในปี 2554 เหลือ 16.95% ในปี 2555 หากไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น อีกประมาณ 3-4 ปี ประเทศไทยก็จะมีไฟฟ้าไม่พอใช้และเกิดไฟฟ้าดับในวงกว้าง (Blackout)

       ด้วยเหตุผลนี้ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าจากการใช้เชื้อเพลิงที่หลากหลาย เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน รวมถึงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น เนื่องจากการสร้างโรงไฟฟ้าประเภทอื่นไม่สามารถผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งถ่านหินมีปริมาณสำรองที่มากพอสำหรับรองรับการผลิตไฟฟ้าในระยะยาว


ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์บ้านเมือง